ด้วยอิทธิพลของน้ำประปาที่ไหลสะดวกไปทั่วทีปทั่วแดน กับมลภาวะอากาศและรางน้ำฝนที่ไม่ค่อยพัฒนารูปแบบให้เข้ากับรูปลักษณ์อาคาร ทำให้รางรับน้ำฝนแทบจะหายไปจากชายหลังคาบ้านเรา จะยกเว้นก็แต่ว่า จำเป็นต้องติดตั้ง เช่นว่าถ้าไม่มีรางรับน้ำฝน น้ำจากหลังคาก็จะไหลไปรบกวนบ้านข้างเคียง หรือหลังคาบ้านอยู่สูงมาก เช่น หลังคาบ้าน2-3 ชั้น ทำให้ระยะที่สูงมากประกอบกับปริมาณน้ำที่ไหลรวมลงมานั้นก่อให้เกิดหลุมเกิดบ่อที่พื้นดินได้อย่างง่ายดาย หรือไปทำลายต้นหมากรากไม้ที่เพียรบรรจงปลูกจนขึ้นหรือบ้านตั้งอยู่ในบริเวณที่น้ำประปายังไหลไปไม่ถึงหรือไหลไม่สะดวกทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องกักเก็บน้ำที่ตกลงมาจากฟากฟ้าเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อไป
รางรับน้ำฝนโดยทั่วไปไทยทำนั้น ก็มักจะพับขึ้นรูปจากวัสดุพวกเหล็กชุบสังกะสี หรือสแตนเลสสตีลการเชื่อมต่อมีทั้งแบบเชื่อมด้วยความร้อน หรือการเชื่อมด้วยไฟฟ้าวัสดุจะหนาจะบางก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่มี และก็มักจะมีสีธรรมชาติของวัสดุเป็นส่วนใหญ่รางรับน้ำที่ทาสีทับบ้างนั้น ก็มีบ้างเหมือนกัน แต่อายุการใช้งานก็ไม่ค่อยนานนักส่วนพวกที่เป็นรางรับน้ำฝนคอนกรีทเสริมเหล็กติดกับหลังคานั้นก็มักจะถูกออกแบบและก่อสร้างพร้อมกับอาคารเป็นหลังๆ ไปเลย ซึ่งถ้าจะมาทำทีหลังนั้นย่อมเป็นไปได้ยากลำบากอยู่เหมือนกัน
ปัจจุบัน ก็มีการนำเข้ารางน้ำฝนจากต่างประเทศ มีทั้งวัสดุที่เป็นเหล็กชุบสังกะสีแล้วเคลือบสีหรือที่เป็นอลูมิเนียมเคลือบสี ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันไป มีทั้งรูปแบบเป็นโค้ง เป็นเหลี่ยมหรือทำมุมกลมกลืนไปกับความลาดเอียงของหลังคา มีทั้งเป็นชิ้นส่วนให้มาประกอบเป็นช่วงๆและเป็นรางรับน้ำชิ้นเดียวยาวตลอดแนวชายคาบ้าน
ในการติดตั้งรางรับน้ำฝนโดยทั่วไปแล้ว ก็มักจะเรียกใช้งานช่างติดตั้งรางรับน้ำฝนหรือถ้าหากว่าเป็นชายคาบ้านชั้นเดียว ก็สามารถที่จะทำเองได้ไม่ยากนัก เพราะระดับความสูงไม่มากนักสามารถพาดบันไดจากพื้นไปติดตั้งรางน้ำที่ชายคาได้ไม่ยาก แต่หากเป็นหลังคาชั้นบนๆควรเรียกใช้งานช่างติดตั้งโดยตรงจะดีกว่า และในการประมาณการขนาดรางน้ำฝนนั้นควรพิจารณาเรื่องพื้นที่หลังคาที่น้ำฝนจะไหลลงมาสู่รางบริเวณดังกล่าวด้วย เช่นว่าจะทำรางน้ำฝนที่หลังคาส่วนต่อเติมด้านหลังทาวน์เฮาส์ ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่นักและหลังคาของทาวน์เฮาส์เดิมที่อยู่ชั้นบนนั้น มีขนาดเท่ากับพื้นที่ทาวน์เฮาส์และไม่มีรางรับน้ำฝนในส่วนหลังคาเดิม ฉะนั้นในการทำรางรับน้ำฝนในพื้นที่ส่วนต่อเติมนี้ก็จะต้องคิดพื้นที่หลังคาส่วนบนเป็นพื้นที่รับน้ำฝนร่วมกับพื้นที่หลังคาส่วนต่อเติมด้วยแต่ถ้าหากว่าผนังอาคารบริเวณที่จะทำรางน้ำฝนมีพื้นที่ใหญ่มาก เช่นเป็นผนังอาคารที่รับน้ำฝนที่สาดซัดเข้ามา 3-4 ชั้นจะต้องเผื่อพื้นที่ผนังในบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำฝนด้วย
ในการที่จะยึดรางรับน้ำฝนกับชายคาบ้านนั้น ก็จะต้องพิจารณาดูความแข็งแรงของโครงสร้างชายคาบ้านด้วยว่ายังแข็งแรงดีอยู่หรือไม่ ควรยึดตามแนวจันทันของโครงสร้างหลังคาเป็นหลักถ้าหากว่าระยะระหว่างจันทันมีความกว้างมาก ทำให้รางน้ำแอ่น ตกท้องช้างควรเสริมที่กลางเชิงชายระหว่างจันทัน ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากทั้งเรื่องขนาดของรางน้ำหรือขนาดความหนาของวัสดุราง
ถ้าหากว่าเชิงชายไม้ปิดลอนกระเบื้อง มีการเล่นลวดลายฉลุ ก็อาจจะต้องทำใจไปเลยว่า ไม่ได้เห็นแน่ถ้าหากว่าจะติดรางรับน้ำฝนแบบทั่วไป อาจจะใช้วิธีติดลวดลายฉลุไว้ด้านนอกรางรับน้ำฝน ซึ่งก็จะสามารถทำได้แต่ก็จะต้องเพิ่มรายละเอียดการติดตั้งวัสดุเพิ่มเติม เพื่อให้สวยงามเรียบร้อย(ดูรายละเอียดได้จากภาพชายคาวิหารวัดหัวเวียง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน)
ปัจจัยสำคัญในการติดตั้งรางรับน้ำฝน นอกเหนือจากเรื่องพื้นที่รับน้ำฝนแล้ว ก็คือระดับความลาดเอียงของรางรับน้ำฝน และตำแหน่งที่จะวางท่อระบายน้ำฝนโดยทั่วไปมักจะทำระดับความลาดเอียงที่ 1:100 คือ ที่ระยะความยาว 100 เซนติเมตรให้ลดระดับรางรับน้ำฝนลงไป 1 เซนติเมตร หรือให้มีความลาดเอียงมากกว่านี้แต่ก็ต้องดูตำแหน่งที่จะต่อท่อระบายน้ำฝนด้วย เพราะถ้าหากว่าวางตำแหน่งท่อระบายน้ำฝนไว้ตำแหน่งเดียวและรางรับน้ำฝนมีขนาดยาวมากๆ อาจจะทำให้ระดับรางรับน้ำฝนอยู่ต่ำกว่าระดับชายคาบ้านได้ ซึ่งจะดูไม่สวยงามเช่น ชายคาที่จะวางรางรับน้ำฝนยาว 12 เมตร และเมื่อจัดระดับความลาดเอียงแล้วปลายอีกด้านหนึ่งของรางรับน้ำฝนอยู่ต่ำกว่าปลายอีกด้านหนึ่ง 12 เซนติเมตรทำให้ท้องของรางรับน้ำฝนอยู่ต่ำกว่าระดับชายคาได้การที่เราเพิ่มตำแหน่งที่จะวางท่อระบายน้ำฝนที่อีกปลายหนึ่งนอกจากทำให้ส่วนต่างของระดับปลายรางรับน้ำฝนต่างกันเพียง 6 เซนติเมตรแล้วยังจะเป็นการป้องกันการระบายน้ำไม่ทันที่เนื่องจากท่อระบายน้ำอุดตันด้วย
แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นส่วนสำคัญและมักจะไม่มีเป็นส่วนประกอบของรางรับน้ำฝนโดยทั่วไป ก็คือการป้องกันเศษขยะ หรือใบไม้อุดตันรูระบายน้ำซึ่งก็อาจจะเป็นทั้งใบไม้ที่ปลิดปลิวหล่นมาจากต้นไม้ที่อยู่ใกล้เคียงถุงพลาสติกหรือเศษขยะที่หลุดมือลอยมาตามสายลม หรือรังนกที่ไปทำรังใต้กระเบื้องหลังคา เป็นต้นทำให้ท่อรับน้ำฝนอุดตัน และบางทีด้วยน้ำหนักของน้ำที่ขังอยู่ในรางรับน้ำฝนกับการเสื่อมสภาพของโครงยึดรางทำให้รางรับน้ำฝนหลุดลงมาได้
ในการป้องกันสิ่งไม่พึงประสงค์อุดตันนี้ก็จะใช้เหล็กตะแกรงที่มีขนาดรูเล็กพอที่จะป้องกันเศษวัสดุไม่พึงประสงค์มาอุดตัน ปิดตลอดปากรางรับน้ำฝนซึ่งอาจจะใช้วิธีครอบทับปากรางรับน้ำ หรืออาจจะใช้วิธีพับหรือม้วนให้มีขนาดพอดีกับขนาดรางรับน้ำฝนแล้วใส่เข้าไปในรางรับน้ำฝนตลอดแนวซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมขนาดใหญ่หลุดเข้าไปในรางรับน้ำฝนได้ทำให้ภายในรางรับน้ำฝนมีเฉพาะแต่น้ำและฝุ่นผงขนาดเล็กๆ เท่านั้นทำให้ไม่เกิดการอุดตันในช่องท่อระบายน้ำฝนได้
โดยปกตินั้น น้ำฝนแรกของฤดูกาลจะถูกปล่อยทิ้งไปไม่เก็บไว้เพราะน้ำฝนที่ไหลผ่านหลังคาจะชำระฝุ่นผงที่ตกค้างอยู่บนหลังคาด้วยทำให้น้ำฝนแรกนั้นมีฝุ่นละอองมากและไม่สะอาด ส่วนน้ำฝนในคราต่อๆมานั้น ก็จะถูกเก็บไว้เพื่อนำไปใช้ต่อไปแต่ในเมืองใหญ่ๆนั้น ควรตรวจสอบปัญหามลภาวะในอากาศประกอบด้วยเพราะฝนที่ตกลงมาจะมีฝุ่นผงละอองในอากาศของเมืองๆนั้นสะสมอยู่และอาจจะเป็นพิษภัยต่อการใช้อุปโภคบริโภคได้ หรืออาจจะเก็บไว้เพื่อใช้ในการทำความสะอาดบริเวณรดน้ำต้นไม้แต่ควรแยกส่วนการจัดเก็บไว้เป็นสัดเป็นส่วนต่างหากจากน้ำที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคภายในครัวเรือน