ในสมัยก่อน ห้องครัวตามบ้าน มักจะแยกออกเป็นห้องอย่างเป็นสัดส่วน มีหน้าต่างสำหรับ การระบายอากาศอย่างเพียงพอ ทำให้ผู้ที่เข้าไปใช้ครัว หรือผู้ที่อยู่ในส่วนอื่นๆ ของบ้าน ไม่รู้สึกอึดอัดหรือเกิดกลิ่นควัน รบกวนมากนักในเวลาทำอาหาร
แต่ในปัจจุบันซึ่งสภาพความเป็นอยู่ เปลี่ยนแปลงไป ครอบครัวจำนวนมาก ต้องอาศัยอยู่ในอาคารชุดหรือแฟลต แทนการอยู่บ้านเดี่ยว ลักษณะของอาคารดังกล่าว ส่วนใหญ่จะรวมห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัวไว้ในบริเวณเดียวกัน โดยไม่มีการกั้นห้อง และอีกจำนวนไม่น้อย ที่ต้องอาศัยอยู่ทาวน์เฮาส์ ซึ่งมีระบบการระบายอากาศที่ไม่ดีนัก เป็นผลให้การทำอาหารในแต่ละครั้ง เกิดกลิ่น ควัน และความร้อนรบกวนไปทั้งบ้าน
ดังนั้นเครื่องดูดควัน จึงเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาดังกล่าว เครื่องดูดควันนี้ นอกจากจะช่วยรักษาสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในบ้าน โดยช่วยลดความร้อน และกลิ่นควันต่างๆ แล้ว ยังช่วยลดความสกปรกของห้องครัว และบริเวณข้างเคียง จากคราบไขมันและเขม่าต่างๆ อีกด้วย เครื่องดูดควันจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับห้องครัวตามบ้านแทบทุกหลัง ไม่ว่าจะเป็นทาวน์เฮาส์ อาคารชุด หรือแม้แต่บ้านเดี่ยวก็ตาม
เมื่อกล่าวถึงเรื่องเครื่องดูดควันแล้ว หลายคนคงจะเคยสังเกต ตามร้านอาหารที่มีปล่องดูดควัน ทรงสี่เหลี่ยมคางหมู ติดตั้งอยู่เหนือเตา ปลายปล่องจะติดตั้งพัดลม และมอเตอร์กำลังแรงเพื่อดูดควัน และความร้อนจากการทำอาหาร ให้ออกสู่ด้านบน
เครื่อง ดูดควันลักษณะดังกล่าว มีประสิทธิภาพในการดูดควันสูง มักต้องสั่งทำแต่ละส่วน เช่น ตัวปล่อง ( hood ) พัดลม และมอเตอร์ แล้วนำมาประกอบกัน จึงไม่ค่อยมีความสวยงามกลมกลืน เครื่องดูดควันประเภทนี้มักใช้กันตามร้านอาหาร ที่ต้องทำอาหารเป็นจำนวนมาก ในแต่ละวัน มากกว่าที่จะนำมาใช้ตามบ้านเรือน เนื่องจากมีรูปแบบ ไม่สวยงาม ติดตั้งยาก และเกินความจำเป็น จึงนำมากล่าวถึงเพียงเพื่อ ให้เห็นระบบการทำงาน แบบพื้นฐานของเครื่องดูดควันโดยทั่วไปเท่านั้น สำหรับเครื่องดูดควันที่ใช้ตามบ้านเรือน มีลักษณะการทำงาน โดยพื้นฐานไม่แตกต่างไปจาก เครื่องดูดควันที่ กล่าวมาข้างต้น เพียงแต่การออกแบบ จะมีความสวยงามกลมกลืน กะทัดรัด ติดตั้ง สะดวกกว่า และสามารถดัดแปลงการใช้งาน ให้เหมาะสมกับสถานที่ห้องได้ แต่ประสิทธิภาพการใช้งาน จะค่อนข้างต่ำ เนื่องจากมีขนาดเล็ก