ขนมครกชาววัง ทำกินเพลิน ทำขายรวย
“ลงทุนครั้งหนึ่ง ประมาณ 300 บาท ซื้อแป้งสำเร็จรูป 1 กิโลกรัม มาผสมกับ น้ำกะทิ น้ำสะอาด น้ำปูนใส น้ำตาลโตนด เกลือ จะได้แป้งสำหรับหยอดขนมครก 3 กิโลกรัม แป้งจำนวนนี้สามารถหยอดขนมครก ขนาด 15 เบ้า ได้ 24 กระทะ หากแคะไม่เสีย จะได้ขนมครก ทั้งหมด 360 ชิ้น จำหน่ายชิ้นละ 2 บาท รวมแล้วเป็นเงิน 720 บาท หลังหักค่าใช้จ่าย ได้กำไรเกินครึ่ง”
ย่านชุมชนตอนเช้าตรู่ หรือช่วงเย็นที่เป็นเวลาเปิดของตลาดนัด มักมีหนึ่งเมนูขนมไทยวางขาย นั่นคือ “ขนมครก” ขนมที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า หัวกะทิ แล้วโรยด้วยหน้าต่างๆ ซึ่งรสชาติออกหวาน เค็ม มัน จึงไม่น่าแปลกใจ ที่หลายคนนิยมรับประทาน
ก้าวแรกเศรษฐีฉบับนี้ นำเสนอข้อมูล ช่องทางการลงทุน และสถานที่จำหน่ายอุปกรณ์ขนมครก ขนมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นขนมไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมไม่ได้มีพัฒนาการเหมือนอย่างทุกวันนี้ เพราะตามหลักขนมไทย ใช้เพียงข้าวเจ้าไปโม่ให้เป็นแป้ง เจือกับน้ำตาล และมะพร้าวเท่านั้น แต่ปัจจุบัน ถูกนำมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย สร้างรสชาติให้โดดเด่นไม่ซ้ำใคร
ขนมครกชาววัง
จุดเด่น ชิ้นใหญ่ กรอบอร่อย
อาจารย์จินดามาศ ทินกร วิทยากรศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน ผู้เชี่ยวชาญขนมครก กล่าวว่า จำหน่ายขนมเมนูนี้ มากว่า 40 ปี สูตรที่ใช้เป็นสูตรโบราณตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่ปัจจุบัน เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย นำส่วนผสมมาดัดแปลงเล็กน้อย ทว่ารสชาติ และรูปลักษณ์ยังคงเดิม “ขนมครกเมื่อก่อน สูตรดั้งเดิมนำข้าวสาร มาผสมข้าวสุกค้างคืนแล้วโม่ เพื่อให้มีความนิ่ม แต่ข้อเสียคือ ทำให้เสียไว ปัจจุบัน สะดวกสบาย เนื่องจากมีแป้งสำเร็จรูปจำหน่าย ช่วยลดความยากลงไปได้พอสมควร ส่วนหน้าที่ใช้โรยก็มีความหลากหลายมากขึ้น”
วัตถุดิบสำคัญของขนมครก ที่วิทยากรพูดถึงคือ แป้ง มีด้วยกัน 2 รูปแบบคือ แป้งสด และแป้งแห้ง ถามผู้เชี่ยวชาญได้ใจความว่า แป้งสดคือ แป้งที่ต้องทำเองไม่มีวางจำหน่าย อันมีส่วนผสมของข้าวสารเก่า ข้าวสวยกลางปีสุกค้างคืน ถั่วทอง หรือถั่วเขียวเลาะเปลือก นำมาโม่ด้วยเครื่อง วิธีการ นำข้าวสารเก่าแช่น้ำค้างคืน ไปโม่พร้อมข้าวสุกและถั่วทอง เหตุที่ไม่ใช้ข้าวใหม่ เพราะแป้งจะเหนียว เวลาแคะออกจากเบ้าจะไม่ค่อยล่อน ส่วนแป้งแห้งคือ แป้งสำเร็จรูปที่ขายทั่วไปตามท้องตลาด โดยความแตกต่างของแป้งทั้งสองนี้คือ แป้งสด เนื้อขนมจะละเอียดและหอม แต่แป้งแห้งจะให้ความสะดวกมากกว่า
นอกจากแป้งจะเป็นส่วนประกอบสำคัญของขนมครก ยังมีกะทิที่ใช้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เลือกซื้อมะพร้าวสำหรับทำขนมมาขูด แล้วคั้นเพื่อให้ได้น้ำกะทิที่สดใหม่ จากนั้นผสมเกลือป่นเล็กน้อย การทำเช่นนี้จะทำให้ได้กะทิที่หอม นอกจากนั้น ยังมีความเข้มข้นมากกว่ากะทิกล่อง แต่หากเลี่ยงไม่ได้ แนะนำให้ใช้ยี่ห้ออร่อยดี เนื่องจากกลิ่นจะหอมแบบธรรมชาติ
อีกสิ่งที่จะช่วยเพิ่มรสชาติ ให้ขนมครกกรอบอร่อย นั่นคือ ขนาด วิทยากร เผยว่า ควรเลือกใช้เบ้าขนมครกที่มีขนาด 15 เบ้า เฉลี่ยหลุมละประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เซนติเมตร เวลาเทแป้ง ให้เท 3/4 ของเบ้า จากนั้นใช้กระบวยหน้ากว้าง 5 เซนติเมตร กดให้แป้งล้นขึ้นมา ประมาณ 1 เซนติเมตร เติมหางกะทิ ตามด้วยหัวกะทิ บริเวณที่ล้นเรียกว่าขอบ ซึ่งจะมีความกรอบ และแลดูชิ้นใหญ่ ลักษณะนี้รวมเรียกขนมครกชาววัง “เบ้าขนมครกที่วางขายทั่วไป มีตั้งแต่ขนาด 15 เบ้า 22 เบ้า และ 28 เบ้า อยากให้เลือกใช้ขนาด 15 เบ้า เนื่องจากชิ้นใหญ่ทำออกมาเฉลี่ยชิ้นละประมาณ 7 เซนติเมตร ซึ่งผู้บริโภคจะรู้สึกคุ้มค่า ต่างจากขนาดเล็กประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร”
ลำดับต่อมา ด้านรสชาติ อาจารย์จินดามาศ เผยว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ไม่นิยมรับประทานหวาน ดังนั้น อยากให้ผู้ประกอบการ ทำรสชาติแบบกลมกล่อม ไม่หวานจัด หรือเลี่ยนเกินไป ส่วนหน้าที่โรยยอดนิยม ได้แก่ ต้นหอม ผักชี ข้าวโพด เผือก ลูกตาล ถ้ายังไงสามารถนำไปดัดแปลงเพิ่มเติมได้
ลงทุน 3,000 บาท
ขายดีทุกวัน ไม่มีวันหยุด
ถึงตรงนี้ ถามผู้เชี่ยวชาญ ถึงจำนวนเงินลงทุน ได้ความว่า เงินที่ใช้ลงทุนขายขนมครกต่ำสุด เฉลี่ยใช้เงินประมาณ 3,000 บาท แบ่งเป็นค่าอุปกรณ์ 2,500 บาท ได้แก่ เตาไฟ 2 หัว เป็นเตาเหล็ก 1,500 บาท เบ้าขนมครก 1 ใบ ราคา 600 บาท กาหยอดขนมครก 60-100 บาท เตาแก๊ส 300 บาท ค่าวัตถุดิบ อาทิ แป้ง กะทิ น้ำตาลโตนด เกลือ จานกระดาษไว้ใส่ขนม ทั้งสิ้น 300 บาท แถมเหลือเป็นเงินหมุนเวียนจำนวนหนึ่ง “3,000 บาท หลักๆ ได้อุปกรณ์การขายและวัตถุดิบจำนวนหนึ่ง แต่จะไม่รวมอุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ อาทิ กะละมังผสมแป้ง ทัพพี ช้อน ของจุกจิกในครัว เนื่องจากแต่ละบ้านมักมีอยู่แล้ว”
เมื่อทราบว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ต่อมาถึงรูปแบบการขาย วิทยากร ระบุว่า สามารถวางจำหน่ายได้ทั้งรถเข็น และตั้งโต๊ะ ขึ้นอยู่กับเงินทุน ถ้าเป็นรถเข็น คันละประมาณ 5,000 บาท ถ้าเลือกตั้งโต๊ะ สามารถเลือกวัสดุได้ตามกำลัง เลือกขนาดโต๊ะให้กว้าง 3 ฟุต ขึ้นไป ส่วนทำเลที่แนะนำ ยังคงอยู่ย่านตลาดสด ตลาดนัด งานวัด งานประจำปี ชุมชน หอพัก บริษัทห้างร้าน ป้ายรถประจำทาง หน้าร้านสะดวกซื้อ โรงพยาบาล หมู่บ้านจัดสรร สถานศึกษา หรือหากใครมีร้านอาหารอยู่แล้ว นำไปเสริมเป็นของหวานได้ ส่วนวัน และช่วงเวลาขาย ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ ขายได้ทุกวัน ตั้งแต่เช้า ไปจนค่ำมืด
คล้ายว่าขั้นตอนขนมครกไม่มากมายนัก ทว่าสิ่งใดที่ยากที่สุด อาจารย์จินดามาศ เผย อยู่ที่เทคนิคการหยอด บรรดามือใหม่ ควรใช้ช้อนหรือกระบวย ไม่ควรใช้กาหยอด เนื่องจากน้ำหนักมือยังไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้กะปริมาณไม่ถูก อีกทั้งเวลาแคะ เพื่อไม่ให้เสียของ ต้องใจเย็นรอจนกว่าขนมจะสุก “ลงทุนครั้งหนึ่ง ประมาณ 300 บาท ซื้อแป้งสำเร็จรูป 1 กิโลกรัม มาผสมกับ น้ำกะทิ น้ำสะอาด น้ำปูนใส น้ำตาลโตนด เกลือ จะได้แป้งสำหรับหยอดขนมครก 3 กิโลกรัม แป้งจำนวนนี้สามารถหยอดขนมครก ขนาด 15 เบ้า ได้ 24 กระทะ หากแคะไม่เสีย จะได้ขนมครก ทั้งหมด 360 ชิ้น จำหน่ายชิ้นละ 2 บาท รวมแล้วเป็นเงิน 720 บาท หลังหักค่าใช้จ่าย ได้กำไรเกินครึ่ง”
นอกจากขนมครกจะลงทุนต่ำ ขายได้กำไรดีแล้ว ข้อได้เปรียบอีกอย่างคือ วัตถุดิบหาซื้อได้ง่าย ส่วนผสมทุกอย่าง ซื้อได้ที่ตลาดสด ร้านขายของชำ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้าทั่วไป ไม่เหมือนกับอาชีพบางชนิด ที่ต้องมีร้านประจำ เช่น ขายอาหาร หรือผลไม้
อีกเทคนิคการขายที่อาจารย์จินดามาศ แนะนำ คือรสชาติต้องคงที่ วัตถุดิบสดใหม่ สถานที่จำหน่ายสะอาด มีหลากหลายไส้ให้เลือกรับประทาน พูดจาไพเราะกับลูกค้า ตั้งใจขาย ไม่หยุดบ่อย จะทำให้ได้ลูกค้าประจำ จากนั้นจะเกิดการบอกปากต่อปาก
ก่อนยุติเนื้อหา อาจารย์จินดามาศนำสูตรการทำขนมครกชาววัง มาให้ทดลองทำ และย้ำว่า โอกาสในการขายขนมชนิดนี้ ยังมีพื้นที่อีกมาก เนื่องจากปัจจุบัน คนยังนิยมบริโภคขนมชนิดนี้อยู่ สนใจสอบถามเนื้อหา หรือเข้ารับการอบรม ติดต่อ ศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน โทรศัพท์ (02) 589-2222, (02) 589-0492 และ (02) 954-4999 ต่อ 2100, 2101, 2102 และ 2103
วัตถุดิบตัวแป้งขนมครก
ส่วนผสม
1. แป้งข้าวเจ้าอย่างดี ตราดอกไม้ 1 กิโลกรัม
2. น้ำกะทิ 4 ถ้วยตวง
3. น้ำสะอาด 2 ถ้วยตวง
4. น้ำปูนใส 2 ถ้วยตวง
5. น้ำตาลโตนด 1 ช้อนโต๊ะ
6. เกลือ 1 ช้อนชา
7. โรยหน้าตามใจชอบ อาทิ ต้มหอม ข้าวโพด เผือก ฯลฯ
วิธีผสมแป้ง
ค่อยๆ เทแป้งข้าวเจ้า ลงผสมกับน้ำสะอาด น้ำปูนใส คนจนกว่าจะเข้ากัน จากนั้นเติมกะทิ น้ำตาลโตนด เกลือป่น แล้วคนให้เข้ากันดี
กะทิหน้าขนมครก
ส่วนผสม
1. หัวกะทิ 6 ถ้วยตวง
2. หางกะทิ 2 ถ้วยตวง
3. น้ำตาลทราย 1 1/2 ถ้วย
4. เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำกะทิสำหรับหยอดหน้า
ผสม หัวกะทิ หางกะทิ เกลือป่น น้ำตาลทราย เข้าด้วยกัน นำไปตั้งไฟ คนให้น้ำตาลและเกลือละลาย จากนั้นยกลง ทิ้งไว้ให้เย็น ใส่ภาชนะเตรียมหยอดหน้าขนมครก
วิธีทำขนมครก
1. ตั้งกระทะขนมครก ใช้ไฟอ่อนปานกลาง รอจนเตาร้อนเต็มที่
2. นำลูกประคบ ทำด้วยกากมะพร้าวห่อด้วยผ้าขาว แตะน้ำมันพืช เช็ดที่เบ้าขนมครกให้ครบทุกเบ้า
3. ตักหรือใช้กาหยอดแป้งขนมครก ลงในเบ้าปริมาณ 3/4 นำกระบวยกดให้ล้นขึ้นมาด้านข้าง ประมาณ 1 เซนติเมตร ปิดฝาทิ้งไว้ราว 2-3 นาที
4. หยอดหางกะทิ ตามด้วยหัวกะทิ ประมาณ 1 ช้อนชา ต่อ 1 เบ้า โรยหน้าตามใจชอบ ปิดฝาทิ้งไว้ รอจนขอบแป้งเหลือง ใช้ช้อนแซะขึ้นใส่ภาชนะ
วิธีทำหน้าไข่เค็ม นำไข่เค็มต้มสุก มาแกะเปลือกออก นำไปขูดให้เป็นเส้นฝอยๆ ใช้โรยหน้าขนมครก เพิ่มความอร่อยด้วยพริกชี้ฟ้าหั่นฝอย และผักชี (เฉพาะใบ)
วิธีทำหน้ากุ้ง ใช้กุ้งสด มะพร้าวทึนทึก ในปริมาณที่เท่ากัน สับให้ละเอียด นำไปรวน ใส่พริกไทย เกลือป่น ชิมให้ออกรสเค็มนิดๆ โรยบนหน้าขนมครก แต่งด้วยใบมะกรูดหั่นฝอย พริกเหลืองซอย ใบผักชีเด็ดเป็นใบๆ
อุปกรณ์สำหรับทำขนมครก
1. เครื่องโม่แป้ง (ในกรณีทำแป้งสด)
2. เบ้าขนมครก
3. กาสำหรับหยอดแป้ง
4. ลูกประคบ (ทำด้วยกากมะพร้าวห่อด้วยผ้าขาว)
5. ช้อนสำหรับแคะขนมครก
เคล็ดลับความอร่อย
1. น้ำมันพืชที่ใช้เช็ดเบ้าขนมครก ควรเป็นน้ำมันมะพร้าว จะทำให้ขนมครกมีกลิ่นหอม ชวนให้น่ารับประทาน นอกจากนั้น ยังทำให้ผิวขนมครกมีสีสวย
2. ภาชนะใส่ขนมครก ไม่ควรใช้โฟม เนื่องจากมีสารเมลามีน ก่อให้เกิดมะเร็ง ควรเป็นจานกระดาษ หรือรองด้วยใบตอง หรือหากจำเป็นต้องเรียงซ้อนกัน ก็ควรมีใบตองวางทับไว้ด้วย เพื่อไม่ให้ขนมครกติดกัน
3. เบ้าขนมครก มีทั้งที่ผลิตจากเหล็ก และสเตนเลส ขึ้นอยู่กับเงินลงทุน ส่งผลด้านความสวยงาม แต่ไม่ส่งผลต่อรสชาติแต่อย่างใด
ร้านจำหน่ายวัตถุดิบทำขนมครก
1. ตลาดสดใกล้บ้าน/ห้างสรรพสินค้า
2. ร้านแสงอรุณ ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดจังหวัดนนทบุรี จำหน่ายวัตถุดิบทำขนมไทยทุกประเภท ภาชนะบรรจุ และอุปกรณ์จำเป็นทั้งหมดสำหรับทำขนม โทรศัพท์ (02) 525-0504
3. ร้านตั้งจิบเซ้ง ที่อยู่ แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 222-1721, (02) 221-3809, (02) 221-2280, (02) 221-1693
ร้านขายกล่องบรรจุและเบ้าขนมครก
1. ร้านตั้งจิบเซ้ง ที่อยู่ แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 222-1721
2. ร้านขจรศักดิ์ เครื่องครัว ที่อยู่ แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 221-0572 โทรสาร (02) 221-7796
3. ห้างแม็คโคร ทุกสาขา
4. ร้านกิตติเครื่องครัว ที่อยู่ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 271-0634
5. บริษัท วีรสุ รีเทล จำกัด สาขาถนนวิทยุ ที่อยู่ 83/7 ถนนวิทยุ ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 254-8100-8 โทรสาร (02) 254-8109 เปิดทุกวันเวลา 09.00-19.00 น.
6. บริษัท วีรสุ จำกัด สาขาเยาวราช ที่อยู่ 436 ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 226-5365-7, (02) 224-2240, (02) 224-2179 โทรสาร (02) 226-5364 เปิดทุกวัน เวลา 09.00-18.00 น. ยกเว้นวันอาทิตย์
7. บริษัท วีรสุ จำกัด สาขาลาดพร้าว ที่อยู่ 3456 /1 ถนนลาดพร้าว บางกะปิ กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 375-6284-7, (02) 734-1040-5 โทรสาร (02) 734-1049 เปิดทุกวัน เวลา 09.00-19.00 น.
8. บริษัท วีรสุ รีเทล จำกัด สาขาแจ้งวัฒนะ ที่อยู่ 104/19-21 ถนนแจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 982-4435-7 โทรสาร (02) 982-4439 เปิดทุกวัน เวลา 10.00-19.00 น.
9. วีรสุคอร์เนอร์ สาขาเสรีเซ็นเตอร์ ถนนศรีนครินทร์ โทรศัพท์ (02) 746-0171 เปิดวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 11.00-21.00 น. วันเสาร์-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-21.00 น.
10. วีรสุคอร์เนอร์ The Mall งามวงศ์วาน ชั้น 4 บริเวณแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์ (02) 550-0609 เปิดวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 10.30-22.00 น. วันเสาร์-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-22.00 น.
11. วีรสุคอร์เนอร์ ห้างอิเซตัน ชั้น 5 บริเวณหน้าซุปเปอร์มาร์เก็ต โทรศัพท์ (02) 255-9816 เปิดทุกวัน เวลา 10.00-21.00 น.
12. วีรสุคอร์เนอร์ The Mall บางกะปิ ชั้น 3 บริเวณแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์ (02) 363-3076 เปิดวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 10.30-22.00 น. วันเสาร์-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-22.00 น.
13. วีรสุคอร์เนอร์ The Mall ท่าพระ ชั้น 4 บริเวณแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์ (02) 477-7200 เปิดวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 10.30-22.00 น. วันเสาร์-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-22.00 น.
14. ห้างแม็คโคร
15. ร้านดี-เบสท์ โกรเซอรี่ จำกัด เลขที่ 148/6-7 หมู่ 2 ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โทรศัพท์ (02) 960-6924-5 โทรสาร (02) 960-6934
16. ร้านกล้วยน้ำไทการช่าง 1 ที่อยู่ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 617-6310-2 โทรสาร (02) 617-7785
17. ร้านกล้วยน้ำไทการช่าง 1 ร้านสาขาคลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 381-7956
18. ร้านกล้วยน้ำไทการช่าง สาขาพระโขนง กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 249-4732-35 โทรสาร (02) 249-5620
19. บริษัท ดี เค เบเกอรี่มาร์ทเทรดดิ้ง จำกัด ที่อยู่ แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 881-0619-21 โทรสาร (02) 881-0622
20. ร้านกล้วยน้ำไทการช่าง 2 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02) 391-2093
21. บริษัท คิงส์แมชชีนส์กล้วยน้ำไทการช่าง จำกัด ที่อยู่ แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 249-4732, (02) 249-5235, (02) 249-5620, (02) 671-6844-5 โทรสาร (02) 672-8700
22. บริษัท จักรวาล เซ็นเตอร์ จำกัด ที่อยู่ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี โทรศัพท์ (02) 526-8115, (02) 968-3041-8 โทรสาร (02) 526-7918, (02) 968-4989
23. ร้านจิรวัฒน์ อุปกรณ์เบเกอรี่ ที่อยู่ แขวงบางแค เขตบางแค กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 455-9453, (02) 801-0204
24.บริษัท ไทยวาชิโนอิเล็คตริค จำกัด 4264 หมู่ 11 ซอยแบริ่ง ถนนสุขุมวิท 107 อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โทรศัพท์ (02) 758-4819 (084) 071-4748